“ยาย้อนวัย” ใช้ได้ผลในหนูทดลอง
ความชราภาพของร่างกายเกิดจากการสะสมเซลล์ที่หยุดแบ่งตัวแล้วเอาไว้มาก |
นักวิจัยเนเธอร์แลนด์เผยคิดค้น "ยาย้อนวัย"
และทดสอบว่าได้ผลกับหนูทดลองแล้ว
โดยหนูแก่กลับมามีพละกำลังและอวัยวะต่าง ๆ ทำงานดีขึ้น
คณะนักวิจัยจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยอีราสมุสในเนเธอร์แลนด์ เผยแพร่ผลทดสอบเบื้องต้นในการใช้ยาคืนความเยาว์วัยให้กับร่างกายหนูทดลองในวารสาร Cell โดยระบุว่ายาใช้ได้ผลกับหนูที่มีอายุมาก ทำให้สามารถคืนพละกำลังความแข็งแกร่ง มีขนกลับมาขึ้นหนาตามตัว และอวัยวะที่ชราภาพกลับมีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น
ดร. ปีเตอร์ เดอ ไคเซอร์ ผู้นำการวิจัยอธิบายว่า ยาชนิดนี้เป็นเปปไทด์หรืออนุพันธ์ย่อยของโปรตีน ซึ่งสามารถกำจัด "เซลล์ชรา" (senescent cell) ในร่างกายออกไปได้ โดยเซลล์ชรานั้นคือเซลล์ที่แก่จนหมดสภาพและไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มขึ้นได้อีก แต่ยังคงสะสมอยู่ในร่างกายเพื่อช่วยในการเยียวยาบาดแผลและยับยั้งการเกิดเนื้องอก อย่างไรก็ตาม เซลล์ชรานี้จะปล่อยสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบออกมาด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุของความชราภาพในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย
หนูทดลองอายุมากที่ได้รับยากลับมีขนขึ้นเงางามและมีสัญญาณของความเยาว์วัยเกิดขึ้นหลายประการ |
ดร. ไคเซอร์บอกว่า เปปไทด์ในยาย้อนวัยจะไปรบกวนสมดุลเคมีของเซลล์ชราจนทำให้เซลล์นี้ตายและขับออกจากร่างกายไป โดยหนูทดลองที่ถูกเร่งให้ชราเร็วขึ้นด้วยการตัดต่อยีนและทำเคมีบำบัด จนมีสภาพร่างกายเทียบเท่ากับมนุษย์อายุ 90 ปี เมื่อได้รับยาย้อนวัยสัปดาห์ละสามครั้งติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งปี ปรากฏว่ากลับมามีพละกำลังมากขึ้น โดยสามารถวิ่งบนวงล้อหมุนได้เป็นระยะทางเพิ่มขึ้นสองเท่า ตับทำงานดีขึ้น และขนที่ร่วงกลับงอกหนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
คณะนักวิจัยวางแผนจะทำการทดลองยาย้อนวัยนี้กับมนุษย์ในขั้นต่อไป โดยผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าควรทดสอบอย่างละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของประสิทธิภาพของยาที่มีต่อหัวใจ กล้ามเนื้อ การเผาผลาญ และการทำงานของสมองด้วย นอกจากนี้ คณะวิจัยยังต้องทดสอบหาผลข้างเคียงของยาที่คาดว่าอาจมีต่อเนื้อเยื่อปกติในร่างกายได้